Power of The Act: ทิศทางธุรกิจการดักจับและกักเก็บคาร์บอนของประเทศอาเซียน

04 ธันวาคม 2566
Power of The Act: ทิศทางธุรกิจการดักจับและกักเก็บคาร์บอนของประเทศอาเซียน

          Global CCS Institute ได้พัฒนาแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (“CCS”) และพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ CCS เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี และพลังงาน โดยใช้ชื่อว่า “The Southeast Asia CCS Accelerator (SEACA)” SEACA มีวัตถุประสงค์ประการสำคัญในการ “เร่งรัด” ให้เกิดการดำเนินโครงการ CCS เชิงพาณิชย์ในประเทศอาเซียนเพื่อช่วยให้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Mitigate Climate Change)

          เพื่อพัฒนา SEACA ในทางปฏิบัติ Global CCS Institute ได้ร่วมกับ ASEAN Centre for Energy (“ACE”) และ Asia Natural Gas & Energy Association จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “South East Asia CCS Accelerator Workshop 2” ขึ้นที่ Atria Hotel Gading Serpong, Tanggerang (Jakarta) ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 20 และ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนได้รับเชิญจากคณะผู้จัดงานให้เข้าร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกฎหมายและกรอบการกำกับดูแลโครงการ CCS จากมุมมองของประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          *งานสัมมนา CCS ในระดับภูมิภาคนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่กรุงเทพมหานคร

          เมื่อวันที่ 15 และ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา Global CCS Institute ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ CCS ครั้งที่หนึ่งแล้วที่กรุงเทพมหานคร ข้อสรุปในงานสัมมนาที่กรุงเทพมหานครคือ “ความไม่เพียงพอ” ของนโยบายและกฎระเบียบที่จะส่งเสริม รองรับ และกำกับดูแลการลงทุนและดำเนินโครงการ CCS ในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐยังไม่ได้กำหนดราคาที่ผู้ปล่อยคาร์บอนจะต้องจ่าย (Carbon Pricing) ในระดับที่เพียงพอจะสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ CCS

          กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการ CCS นั้นยังขาดศักยภาพในการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายและการขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับระหว่างประเทศ องค์กรกำกับดูแลยังขาดความ “มั่นใจ” ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ CCS และยังขาดฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังประสบกับความท้าทายในการสร้างความรับรู้และเข้าใจของคนในสังคมอีกด้วย

          ในประเด็นด้านกฎระเบียนนั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอข้อจำกัดของระบบกฎหมายไทยในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ CCS โดยได้เสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อจำกัดของกฎหมายพลังงานของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ในงานสัมมนาดังกล่าวผู้เขียนได้รับคำถามว่า “ประเทศไทยควรตรากฎหมายเพื่อกำกับการประกอบกิจการ CCS โดยเฉพาะ” หรือใช้ “กฎหมายที่มีอยู่” ก็เป็นการเพียงพอในการกำกับดูแลการประกอบกิจการ CCS

          ตั้งแต่ที่ผู้เขียนได้รับโจทย์ข้างต้น ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการ CCS ผ่านการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และจัดทำเป็นข้อเสนอทางวิชาการเสนอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (กระทรวงพลังงาน) และได้นำเอาข้อเสนอดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่าการนำเอาผลการศึกษาบางส่วนมา “ทดสอบ” ในงาน South East Asia CCS Accelerator Workshop 2 นี้จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนากฎหมายไทย

          *โจทย์ที่กฎหมาย “ต้องตอบ”

          วิทยากรและผู้เข้าร่วม (ประกอบด้วยทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ นักลงทุน สถาบันวิจัย และที่ปรึกษา) ในงาน South East Asia CCS Accelerator Workshop 2 ให้ความสำคัญกับ “รูปแบบการประกอบธุรกิจ CCS” และความเสี่ยงของโครงการ ข้อสังเกตประการสำคัญคือการมองโครงการ CCS เป็นการประกอบธุรกิจซึ่งสามารถสร้างคุณค่าต่อธุรกิจตลอด “ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)” และขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในเวลาเดียวกัน

          ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Mitsui O.S.K. Lines ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการขนส่งโลจิสติกส์ ซัพพลายเชนและการจัดเก็บของประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศวิสัยทัศน์ “MOL Group Environmental Vision 2.2” ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 แสดงถึงเป้าหมายการทำให้เรือเดินสมุทรเพื่อการขนส่งที่ใช้ในการประกอบธุรกิจจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions Ocean-Going Vessels) บริษัทจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 45 ในปี ค.ศ. 2035 (เทียบจาก ค.ศ. 2019) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050

          ในทางปฏิบัติ บริษัท Mitsui O.S.K. Lines ได้เริ่มนำเอาเรือที่อาศัยพลังงานจากลม (Wind Challenger) และเรือที่อาศัยแอมโมเนีย (Ammonia-Powered Ship) มาใช้เพื่อประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจให้ครอบคลุมไปถึงการขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับ และให้บริการขนส่งไปยังแหล่งกักเก็บปลายทางอีกด้วย จึงเรียกได้ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าโดยมองกิจกรรมเกี่ยวกับ CCS เป็นโอกาสในทางธุรกิจ

          เมื่อเป็นการขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ “ข้ามแดน” แล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงมิได้จำกัดเฉพาะกฎหมายของรัฐชายฝั่งใดโดยเฉพาะเจาะจง หากแต่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือและการป้องกันมลพิษที่อาจเกิดกับทะเลได้ วิทยากรในงาน South East Asia CCS Accelerator Workshop 2 ได้มีการหยิบยก London Protocol 1996 และ Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes ขึ้นอภิปราย โดยมีประเด็นว่ากฎหมายเหล่านี้เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ทางทะเลเพื่อวัตถุประสงค์ในการอัดเก็บหรือทุ่มทิ้งได้ และในสายตาของกฎหมายแล้วคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกขนส่งข้ามแดนนั้นควรถูกมองว่าเป็นของเสียอันตรายหรือไม่ ในประเด็นนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมคาดหวังว่า กฎหมายจะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางการขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างประเทศ

          *ความเป็นไปได้ทางการเงินของโครงการ CCS

          นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Economic Research Institute for ASEAN & East Asia ให้ความเห็นว่าโครงการ CCS ประสบความท้าทายในการได้รับการสนับสนุนทางการเงิน รายรับของโครงการมักจะประสบกับความไม่แน่นอน เช่น การเปลี่ยนแปลงการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล ผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายประเทศได้ตั้งคำถามอย่างชัดเจนว่า “เงินที่ใช้ในการประกอบกิจการ CCS ควรจะมาจากไหน” และทำอย่างไรให้โครงการ CCS นั้นได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ

          “รายรับของโครงการ” จะต้องพิจารณาตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การดักจับ ขนส่ง และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าจะให้โครงการ CCS “เกิด” โครงการจะต้อง “Financeable” ในสายตาของธนาคาร ซึ่งในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวนั้น ธนาคารมักจะมีความลังเลที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การประกอบกิจการในส่วนการดักจับและการขนส่ง แต่ธนาคารอาจจะมีความลังเลน้อยกว่าในการสนับสนุนส่วนของการอัดคาร์บอนลงในแหล่งกักเก็บ โดยเทียบกับโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งมีลักษณะเป็นการลงทุนและประกอบกิจการในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการต้องการเงินสนับสนุนในส่วนกิจกรรมการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ในจำนวนน้อยกว่าการประกอบกิจการในส่วนของการดักจับและขนส่ง

          วิทยากรในงานได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการ CCS นั้นจะต้องมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากโครงการทั่วไป การให้สินเชื่อแก่โครงการ CCS ในลักษณะ Project Financing นั้น ผู้ให้สนับสนุนทางการเงินจะพิจารณาถึงรายรับโครงการ เช่น จากการให้การสนับสนุนของรัฐ

          ในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุมว่า เราไม่อาจพิจารณาเฉพาะส่วนของรายรับโครงการเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาถึง “ต้นทุน” ในการประกอบกิจการด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมที่รัฐจะเรียกเก็บจากการให้สิทธิประกอบกิจการ CCS อีกด้วย รัฐไม่อาจมองการใช้ชั้นหินในลักษณะของการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดสิ้นไป อย่างเช่นทรัพยากรปิโตรเลียม แต่ควรพิจารณาด้วยว่าการประกอบกิจการ CCS นั้นมีส่วนช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายเกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีการโต้แย้งคัดค้านข้อเสนอนี้ของผู้เขียน

          *ข้อเสนอในการพัฒนากฎหมายไทย

          ผู้เขียนเป็นวิทยากรในส่วนของ “CCS Legal & Regulatory Frameworks” และได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบกฎหมายไทยให้มีศักยภาพรองรับการประกอบกิจการ CCS ประเด็นแรกที่ผู้เขียนเสนอและเปิดประเด็นการอภิปรายนั้นได้แก่คำถามที่ว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะหรือสามารถพัฒนากฎหมายที่มีอยู่แล้วได้ ผู้เขียนได้เสนอว่า “สำหรับประเทศไทยในช่วงเริ่มต้นนี้” การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้นเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสม เนื่องจากมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้ประกอบกิจการ CCS นั้นจะเป็นบริษัทปิโตรเลียมที่ได้รับสิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมอยู่แล้ว เช่น ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ข้อเสนอประเด็นนี้สอดคล้องกับความเห็นของวิทยากรจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งให้ความเห็นว่า จะมีกฎหมายเฉพาะหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาสถานการณ์ของแต่ละประเทศเป็นรายกรณีโดยไม่ได้มีสูตรตายตัว

          ประการต่อมาผู้เขียนได้เสนอบทวิเคราะห์ที่ว่าสิทธิในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้นเป็นฐานทางกฎหมายเพื่อรองรับการ “ดึงเอา” ทรัพยากรปิโตรเลียมจากแหล่งกำเนิดมาใช้ มิใช่สิทธิการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงในแหล่งกักเก็บโดยตรง ผู้รับสิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ในปัจจุบันนั้นสามารถอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงหลุมผลิตปิโตรเลียมได้เฉพาะการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสารพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับจากแหล่งอื่นมาอัดลงหลุมผลิตเพื่อกักเก็บแบบถาวรได้

          ตามกฎหมายในปัจจุบัน ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจึงไม่อาจรับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ บริษัท Mitsui O.S.K. Lines ทำการขนส่งมาเพื่อกักเก็บลงในหลุมผลิตปิโตรเลียมที่หมดศักยภาพการผลิตแล้วได้ ดังนั้น หากประเทศไทยจะรองรับการประกอบกิจการ CCS ผ่านพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 แล้วจึงควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมถึงการให้สิทธิ (และกำกับดูแล) การอัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มิได้เป็นสารพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียมอีกด้วย โดยผู้เขียนเสนอให้ใช้ระบบใบอนุญาตการประกอบกิจการ CCS ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการให้สิทธิและกำกับดูแลการประกอบกิจการ CCS โดยเฉพาะ

          ผู้เขียนได้เสนอต่อไปว่าระบบใบอนุญาต (Licensing System) นั้นจำเป็นที่จะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการ CCS และหน่วยงานกำกับดูแลอย่างชัดเจน โดยได้เสนอให้มีการกำหนดรายละเอียดที่จะต้องมีในแบบใบอนุญาตประกอบกิจการ CCS ซึ่งกำหนดถึงพื้นที่ที่ให้สิทธิประกอบกิจการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บที่เหมาะสม และแบบของหนังสืออนุญาตอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงแหล่งกักเก็บ (Injection Permit) ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางของ The Land Code: Land (Carbon Storage) Rules 2022 (Sarawak Government) ในประเทศมาเลเซีย

          ในมิติของความเป็นไปได้ทางการเงินนั้น ผู้เขียนได้เสนอให้มีการคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ CCS และหนังสืออนุญาตอัดคาร์บอนลงในแหล่งกักเก็บแยกต่างหากจากการเก็บค่าตอบแทนจากการประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพราะการประกอบกิจการ CCS นั้นมิใช่การนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมไปใช้ แต่เป็นการนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปกักเก็บ จึงเป็นการสมเหตุสมผลที่จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการ CCS นั้นจะอยู่ระดับที่ต่ำกว่าค่าภาคหลวงหรือภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวคิดที่ให้โครงการ CCS นั้น “Financeable”

          ประเด็นที่จะต้องมีการพัฒนาต่อไปคือการกำหนดถึงบทบาทในการติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบการรั่วไหลของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกอัดลงในแหล่งกักเก็บแล้ว ซึ่งสอดคล้องการนำเสนอของวิทยากรจากบริษัท Mitsui O.S.K. Lines ที่ให้ข้อสังเกตว่า “ความรับผิดทางกฎหมาย” นั้นเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องมีการพิจารณา เนื่องจากกระทบต่อต้นทุนในการประกอบธุรกิจและการบริหารจัดการความเสี่ยงผ่านการซื้อประกันภัย

          อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมนั้นมีขอบเขตจำกัดเกี่ยวกับการอัดคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมไปถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการดักจับและขนส่งคาร์บอนไดออกไซด์ จึงกล่าวได้ว่าระบบกฎหมายไทยนั้นยังจะต้องมีการแก้ไขและพัฒนากฎหมายฉบับอื่น ๆ เพื่อรองรับการประกอบกิจการ CCS ให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า

          โดยสรุปแล้ว ตามความเห็นของผู้เขียน การแก้ไขพะราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ตามข้อเสนอทางวิชาการ มีจุดเริ่มต้นโดย “ตั้งฐานจากสภาพข้อเท็จจริงของประเทศไทยซึ่งมองว่าผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมมีโอกาสเป็นผู้ประกอบกิจการ CCS แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางที่สอดล้องกับแนวคิดและวิธีการในระดับสากลโดยมีประเด็นสำคัญคือการสร้างความชัดเจนเกี่ยวสิทธิและหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ต่าง ๆ ในใบอนุญาตและหนังสืออนุญาต ความชัดเจนของกฎหมายเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของกฎหมายโดยที่ปรึกษากฎหมายจาก Allen & Overy ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความไม่แน่นอนของกฎหมายและการให้ดุลพินิจแก่หน่วยงานรัฐมากเกินไปส่งผลเสียต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ CCS อย่างมีนัยสำคัญ

          ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

          หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 66)


แหล่งที่มา : Infoquest

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.